การเจาะเก็บอสุจิโดยตรงจากอัณฑะ
ในกรณีที่ฝ่ายชายมีความผิดปกติของน้ำอสุจิที่รุนแรง เช่น มีปัญหาในการหลั่งอสุจิ การตรวจไม่พบตัวอสุจิจากน้ำอสุจิที่หลั่งออกมา หากพบว่าสาเหตุของความผิดปกตินี้เกิดจากการอุดตันของท่ออสุจิ หรือความผิดปกติชนิดไม่มีท่ออสุจิแต่กำเนิด เคยทำหมันชายมาก่อนในรายที่เคยมีบุตรมาแล้ว หรือมีความผิดปกติที่ทำให้อสุจิที่ถูกหลั่งออกมาตายไปทั้งหมด การแก้ไขปัญหาอาจพิจารณาทำการเก็บอสุจิจากอัณฑะโดยตรง เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการปฏิสนธิ (ICSI) ต่อไป ซึ่งการผ่าตัดหาเชื้ออสุจิมีหลายชนิด แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเลือกประเภทของการผ่าตัดจากสาเหตุของการไม่มีเชื้ออสุจิ
มีหลายวิธีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในปัจจุบันเพื่อนำอสุจิออกมาจากอัณฑะหรือส่วนอื่นๆ ในท่อทางเดินของอสุจิ มีวิธีการดังต่อไปนี้
- PESA (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration) คือ การใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในท่อพักน้ำเชื้อ แล้วดูดน้ำอสุจิออกมาเมื่อพบตัวอสุจิแล้วก็จะนำมาปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection) ต่อไป
- TESE (Testicular Epididymal Sperm Extraction) คือ การผ่าตัดเอาเนื้ออัณฑะออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วแยกตัวอสุจิที่อยู่ในเนื้ออัณฑะออกมา จากนั้นก็นำไปทำ ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection) ต่อไป
- TESA (Testicular Sperm Aspiration) คือ การใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในลูกอัณฑะ แล้วดูดตัวอสุจิออกมา จากนั้นก็นำไปทำ ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection) ต่อไป
- MESA (Microsurgical Epididymal Sperm Aspiration) คือ การผ่าตัดเข้าไปหาท่อพักน้ำเชื้อส่วน epididymis แล้วจึงใช้เข็มแทงเข้าไป และดูดตัวอสุจิออกมา จากนั้นก็นำไปทำ ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection) ต่อไป
โดยทั่วไปแล้วการผ่าตัดนำอสุจิออกมานั้นถือว่าเป็นกระบวนการที่ปลอดภัย ช่วยให้ผู้มีบุตรยากมีความหวัง และมีทางเลือกมากขึ้นในการรักษา จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่าการผ่าตัดนำอสุจิออกมาด้วยวิธีการต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้น อัตราความผิดปกติ และพิการของทารกไม่แตกต่างจากอัตราความผิดปกติที่พบในประชากรทั่วไป ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานสนับสนุน คือ การปฏิสนธินอกร่างกาย (ICSI) และการเลี้ยงตัวอ่อน (culture)